ใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพของแพทย์นั้น เดิมเคยถูกเรียกว่า “ใบประกอบโรคศิลป์” เพราะการรักษาโรคเป็นศิลปะ ไม่ใช่เป็นเพียงวิทยาศาสตร์ที่ตรงไปตรงมา สิว ซึ่งถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคผิวหนัง ก็ต้องอาศัยศิลปะในการรักษาเช่นกัน เพราะสิวเกิดจากหลายปัจจัย ไล่ตั้งแต่กรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การดูแลผิว ไปจนถึงการกิน อยู่ หลับนอน อกหัก รักคุด อัพรูปไปไม่มีคนไลค์ หรือแม้แต่ความเร็วของสัญญาณมือถือที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลกับสิวได้หมดทั้งสิ้น!! การดูแลรักษาสิวไม่ว่าจะเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบหรือสิวผดจะต้องเริ่มที่ความเข้าใจในปัจจัยก่อสิวต่างๆ มาดูกันค่ะว่า ในยุคที่การสื่อสารไปไวกว่าใจไตร่ตรองนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบกับปัญหาสิวได้อย่างไรบ้าง
#นอนดึก
ยอมรับเถอะค่ะว่า การเม้นท์ไปเรื่อยเปื่อยใน facebook คลิกไลค์รูปคนดังในไอจี หรือการไถไทม์ไลน์ใน twitter ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องสนุกที่บางครั้งก็หยุดไม่ได้ ส่งผลให้คนติดโซเชี่ยลนอนดึกกว่าคนที่ไม่ติด ซึ่งการนอนไม่พอนั้น ส่งผลให้ฮอร์โมนเครียด (Cortisol) มีระดับสูงขึ้น ผลถูกส่งต่อไปยังต่อมน้ำมันบริเวณหน้าให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หมอมีคนไข้ไม่น้อยที่นอนดึกเพราะติด facebook จนแทบจะต้องออกใบสั่งยา ให้ลดการเล่นลงจาก prn (เล่นทุกเวลาที่อยาก) เหลือแค่ bid pc (สองเวลา หลังอาหารเช้าเย็นเท่านั้น) ซึ่งได้ผลค่ะ เมื่อนอนเร็วขึ้น นอนพอขึ้น สิวก็เริ่มอ่อนกำลังลงไปในที่สุด
#ข่าวลวงล้น
หมอเป็นหนึ่งในคนที่เล่นทวิตเตอร์ และถูกถามเรื่องปัญหาสุขภาพผิวต่างๆ เป็นประจำ บางคำถามก็แค่ชวนให้ #มองบน บางความเชื่อผิดๆ ก็ทำให้ถึงกับ #ยิ้มอ่อน และบางครั้งความเชื่อผิดๆ ที่อันตรายมากก็ถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางจนถึงกับ #มือแนบอก เพราะการสร้างข้อมูลใดๆขึ้นมาบนโลกออนไลน์นั้น ไม่มีระบบการตรวจสอบ อาจเป็นชุดความเชื่อที่ผิดหรือถูกก็ได้ แต่ถูกส่งต่อกันไปในแบบแชร์ลูกโซ่ และก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่ได้รับข้อความแล้วเชื่อโดยขาดการไตร่ตรอง ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า ใช้น้ำเกลือเช็ดหน้าแล้วสิวจะหาย ในความเป็นจริงแล้ว น้ำเกลือไม่สามารถเช็ดเครื่องสำอาง หรือชะล้างไขมันที่อุดตันบนใบหน้าได้ จึงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ล้างหน้า หรือผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอางได้ และไม่ได้มีคุณสมบัติในการรักษาสิวแต่อย่างใด
เพื่อให้อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ ก่อนจะแชร์เรื่องราวทางสุขภาพใดๆต่อ ควรช่วยกันเช็คก่อนที่จะแชร์ โดยเช็คว่าข่าวนั้นมาจากแหล่งใด มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง หรืองานวิจัยสนับสนุนหรือไม่ และอาจนำข้อมูลนั้นไปสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆก่อน หากได้รับการยืนยันว่าจริง ค่อยส่งต่อข้อมูลไปยังเพื่อนๆ
#มือถือก่อสิว
มีสิวประเภทหนึ่ง เกิดจากการเสียดสีและกดทับของผิวในบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการอุดตัน และเกิดสิวเฉพาะบริเวณนั้นๆ สิวประเภทนี้เรียกว่า “Acne Mechanica” ในอดีต ตัวอย่างที่คลาสสิกของสิวประเภทนี้ซึ่งมีเขียนไว้ในตำรา คือ สิวบริเวณหน้าผาก ในนักกีฬาที่ใส่สายรัดศีรษะ (headband) หรือ สิวบริเวณคางของนักไวโอลิน ด้านที่ต้องเสียดสีกับไวโอลินจากการฝึกฝนเป็นเวลานานๆ แต่ในปัจจุบัน อีกสาเหตุของ Acne Mechanica ที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ โทรศัพท์
เพราะโดยทฤษฏีแล้ว การใช้โทรศัพท์มือถือแนบกับใบหน้าเป็นเวลานานๆบ่อยครั้ง คราบน้ำมันที่เกาะตัวบนหน้าจอโทรศัพท์ และการเสียดสีกดทับกับใบหน้า ย่อมก่อให้เกิดสิวบนใบหน้าด้านที่แนบกับโทรศัพท์มือถือได้ แม้จะยังไม่มีการเก็บข้อมูลรายงานว่า มีเคสสิวประเภทนี้เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่การป้องกันไว้ก่อน ก็น่าจะดีกว่ารอให้เป็นสิว แล้วค่อยมาตามแก้ โดยในคนที่มีความจำเป็นต้องใช้มือถือทั้งวัน ควรใช้สมอลทอล์คเป็นตัวช่วย และหมั่นทำความสะอาดหน้าจอมือถือเพื่อลดคราบน้ำมันสะสม
#ครีมปลอม
หากติดตามข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ จะสังเกตได้ว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ พาดหัวข้อข่าวอย่าง “อย.บุกจับครีมเถื่อน...” “ตำรวจตรวจค้นโรงงานผลิตครีมผสมสารอันตราย...” เกิดขึ้นบ่อยครั้งเหมือนหนังฉายซ้ำๆ ที่หลายๆ คนคิดหาว่าครีมบำรุงผิวยี่ห้อไหนดี หน้าแพ้ง่ายใช้อะไรดี แล้วก็เชื่อกระแสความความนิยมในการบริโภคครีมเถื่อนออนไลน์ ก็ดูจะไม่ตกลงไปแม้แต่น้อย อาจเป็นผลจากกระแสคำโฆษณาที่เย้ายวนอย่าง “ใช้แล้วผิวขาวเด้งในข้ามคืน” หรือ “สิวหายภายในหนึ่งสัปดาห์” ประกอบกับราคาที่ไม่แพง และการสั่งซื้อที่ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก พบว่าครีมที่ขายออนไลน์บางยี่ห้อ มีการลักลอบใส่สารต้องห้ามอย่าง สเตียรอยด์ สารปรอท หรือสารไฮโดรควิโนน เพราะสารเหล่านี้ให้ผลลดสิวผิวใสในระยะเวลาสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว ทำให้ผิวเสพติด ผิวบางลง เกิดสิวพุพอง แพ้ง่าย และฝ้าถาวรได้!!! พูดง่ายๆ ว่า สวยไม่กี่วัน แต่หน้าพังยาวอีกนับปี กว่าจะฟื้นฟูจนหายเป็นปกติได้ การระบาดของครีมเถื่อนออนไลน์ จึงส่งผลกระทบให้ปัญหาสิวซับซ้อนขึ้นไปอีก ถ้ามีการซื้อมาลองใช้
…แต่ใช่ว่าการสื่อสารในยุค 4G นี้ จะมีแต่ผลกระทบเชิงลบต่อสิวนะคะ เพราะหากมองอีกแง่ แหล่งข้อมูลที่เปิดกว้าง ก็ช่วยให้คนทั่วไปหาข้อมูลการดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้น เข้าถึงแหล่งข้อมูลดีๆ ได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องสาเหตุของสิว วิธีการรักษา รายละเอียดของยาที่ใช้รักษาแต่ละประเภท แต่ต้องรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น จากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เป็นสถาบันการศึกษา หรือบทความที่เขียนโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ และการมีพื้นที่สาธารณะบนอินเตอร์เน็ต ให้คนที่มีปัญหาสิวเหมือนๆ กัน ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ หรือแบ่งปันข้อมูล และให้กำลังใจกัน ก็เป็นประโยชน์อีกแง่ของเทคโนโลยีสื่อสารที่มีผลต่อสิว
...ธรรมชาติของการเกิดสิวนั้นไม่เคยเปลี่ยน แต่เทคโนโลยีรอบตัวเรามีพัฒนาการเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากเรามีวิวัฒนาการทางปัญญา ที่สอดคล้องรับกันไป รู้จักปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ จะ 4G หรือ 10G ปัญหาสิวก็แก้ได้ไม่ต่างกัน #อ่านแล้วชอบกดไลค์ #อยากสิวหายกดแชร์ ^__^
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram : @thidakarn