“สิว” คืออะไร?
ตามหลักวิชาการแล้ว “สิว คือการอักเสบของรูขุมขน หรือต่อมไขมัน” บริเวณที่เป็นสิว จึงเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่หนาแน่น ได้แก่ บริเวณใบหน้า คอ ไหล่ หน้าอก หรือแผ่นหลัง หรืออาจพูดได้ว่าจุดหรือตำแหน่งที่เป็นสิว คือตำแหน่งของรูขุมขนของเรานั่นเอง
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสิว คืออะไรบ้าง?
สามารถแบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดสิวได้ง่าย ๆ 2 ปัจจัย ได้แก่
- ปัจจัยภายใน เช่น กรรมพันธุ์ หรือฮอร์โมน (ช่วงวัยรุ่น, ช่วงตั้งครรภ์, ช่วงมีประจำเดือน)
- ปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน มลภาวะ ความชื้น สภาพอากาศ และเครื่องสำอาง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การพักผ่อนน้อย ความเครียด การรับประทานอาหาร
ปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นทำให้เกิดสิวของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เช่นบางคนทานช็อคโกแลตแล้วเป็นสิว แต่บางคนกลับไม่มีผลอะไรจากการทานช็อคโกแลต ดังนั้นตัวเราเองต้องคอยสังเกตว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสิวของตนเอง หากเลี่ยงหรือลดได้ก็ควรเลี่ยงหรือลด เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาสิวที่จะเกิดขึ้นมาได้
สิวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ทางการแพทย์ได้ระบุว่าสิวเกิดจาก 4 สาเหตุหลัก ได้แก่
การผลิตน้ำมันมากผิดปกติ
เนื่องจากต่อมไขมัน มีหน้าที่ผลิตน้ำมันเพื่อให้ความชุ่มชื้น และความแข็งแรงแก่ผิว น้ำมันที่ผลิตได้จะถูกส่งมาตามรูขุมขนออกมาเคลือบที่บนผิวของเรา คนที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่ก็จะผลิตน้ำมันได้เยอะ ใบหน้าจะมีความมันเงา และมีโอกาสเกิดการอักเสบของต่อมไขมันได้ จึงมักพบว่าผู้ที่มีผิวมันมักจะมีปัญหาสิว
การแบ่งเซลล์ผิวมากผิดปกติ
ปกติผิวหนังชั้นบนจะสร้างเซลล์ผิวใหม่ หรือแบ่งเซลล์ผิว แล้วค่อย ๆ หลุดลอกออกไป โดยใช้เวลาประมาณ 28 วัน แต่หากเซลล์ผิวมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ จะส่งผลต่อกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ซากเซลล์ผิวที่มากผิดปกติเหล่านั้นอุดตันอยู่ในรูขุมขน เกิดการอุดตันใต้ผิว ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรียกว่า “ไมโครคอมีโดน (Microcomedones)” เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสิว ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นสิวอุดตัน (comedones) ได้
การอักเสบของเซลล์ผิวหนัง
มาจากพฤติกรรมหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ฮอร์โมน ความเครียด การนอนดึก หรือทานอาหารที่ส่งผลกระตุ้น ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการอักเสบขึ้น
การติดเชื้อแบคทีเรีย และการเสียสมดุลแบคทีเรียบนผิว
หลายคนทราบว่าเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดปัญหาสิวอักเสบ ส่วนเรื่องสมดุลของแบคทีเรียบนผิวพบว่า ผู้ที่มีปัญหาสิวจะพบแบคทีเรียกลุ่มก่อโรคเพิ่มมากผิดปกติ เช่น S.aureus ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารที่ก่อการอักเสบเพิ่มมากขึ้น และเกิดปัญหาสิวอักเสบที่รุนแรงขึ้น
ประเภทของสิว มีอะไรบ้าง?
สิวมี 2 ประเภท ได้แก่
สิวไม่อักเสบ หรือ สิวอุดตัน (Retentinal acne, Comedones)
เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ทำให้ใบหน้าไม่เรียบเนียน แต่ไม่มีอาการเจ็บ บวม และแดง ใด ๆ แบ่งได้เป็น
- สิวหัวขาว หรือ สิวหัวปิด (White head comedones หรือ Close comedones) เป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก สีเดียวกับผิวหนัง เช่น ลักษณะของสิวผด
- สิวหัวดำ หรือ สิวหัวเปิด (Black head comedones หรือ open comedones) เป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีจุดสีดำอยุ่ตรงกลาง เช่น ลักษณะของสิวเสี้ยน
สิวอักเสบ (Inflammatory acne)
เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน และติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย นอกจากจะทำให้ใบหน้าไม่เรียบเนียนแล้วยังพบอาการ แสบ แดง และบวม ร่วมด้วย อาจพบลักษณะของสิวอักเสบที่แตกต่างกันไปเช่น
- สิวตุ่มแดง (Papule) มีลักษณะตุ่มนูน สีแดง ขนาดเล็ก
- สิวตุ่มหนอง (Pustule) มีลักษณะตุ่มนูน ขนาดเล็กและมีหนองร่วมด้วย
- สิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule หรือ Cyst) เป็นสิวที่มีขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่า 0.5 cm) อาจพบเป็นตุ่มหนองหลายจุดอยู่ติดกัน หรือก้อนนูนแดงที่นุ่มเพราะหนองและเลือดอยู่ภายใน
หากจะเรียงลำดับการเกิดสิวแล้วนั้น มักมีจุดเริ่มต้นจาก ไมโครคอมิโดน หรือสิวอุดตันขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า 🡪 สิวอุดตัน 🡪 สิวอักเสบ 🡪 รอยแดง รอยดำ ที่เกิดจากสิว
ดังนั้นหากเราดูแลจัดการที่ “ไมโครคอมิโดน” จุดเริ่มต้นปัญหาสิวได้ ก็จะเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาสิวที่ต้นตอ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ช่วยแก้ปัญหาสิวได้อย่างเห็นผล เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเราได้ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มเป็นสิวง่าย
References:
- 1.Acne relapses: impact on quality of life and productivity B Dreno 1, C Bordet 2, S Seite 3, C Taieb 4 5, ‘Registre Acné’ Dermatologists
2.J Am Acad Dermatol 2019 doi: 10.1016/j.jaad.2019.08.078