โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง:
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและ
การดูแลรักษา

Article Read Duration 8 min read

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก พบความชุกของการเกิดโรคได้ประมาณร้อยละ 15-30 ในเด็ก

ผิวแห้ง อักเสบ ผิวหน้าเป็นผื่น : อาการแสดงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการสำคัญของโรคคือ ผู้ป่วยจะมีผิวหนังแห้ง แดงอักเสบในบริเวณตำแหน่งที่จำเพาะเจาะจง และมีอาการคันมาก นอกจากนี้ผิวหนังจะไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกก่อให้เกิดผื่นขึ้นเป็นๆ หายๆ

พบว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะมีอาการแสดงก่อนอายุ 5 ปี จะพบตำแหน่งของผื่นซึ่งมักจะเกิดขึ้นแตกต่างกันตามช่วงอายุ ได้แก่

วัยทารก พบตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป มีอาการหน้าเป็นผื่น บริเวณแก้ม ใบหน้า ศีรษะ ลำตัว ด้านนอกของแขนขา ข้อมือและข้อเท้า โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มแดง คัน หรือตุ่มน้ำใสมีน้ำเหลืองซึม ต่อมาอาจแห้งเป็นสะเก็ด

วัยเด็กโตและผู้ใหญ่ ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือปื้นแดงหนาที่คอ ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการคันมากและเกาจนเป็นผื่นหนา แข็ง มีขุย โดยเฉพาะถ้ามีอาการเรื้อรัง ในผู้ใหญ่มักพบผื่นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้บ่อย แม้ว่าจะสามารถพบผื่นขึ้นทั่วร่างกายได้ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (immunological factors) ทางพันธุกรรม ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีบิดามารดาหรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร่วมด้วย

ผิวหนังของผู้ป่วยจะอักเสบ แห้ง แดง ผิวหน้าเป็นผื่นคันจากความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง (skin barrier dysfunction) ไขมันระหว่างเซลล์ (intercellular lipid) และความผิดปกติของการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ (tight junction) ในชั้นหนังกำพร้า ทำให้ผิวไวต่อสภาพแวดล้อม เช่น เหงื่อ ความร้อน ความเย็น สารเคมีที่ระคายเคืองต่างๆ เชื้อโรค และทำให้มีการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดกระบวนการอักเสบของผิวหนังเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ

โรคเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

  1. อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป ผิวหนังจะแห้งในฤดูหนาวที่อากาศเย็นและอาบน้ำอุ่น ในฤดูร้อนมีเหงื่อออกมากอาจกระตุ้นให้ผื่นเห่อคัน
  2. การดูแลผิวไม่เหมาะสม เช่น อาบน้ำร้อน อาบน้ำบ่อย อาบน้ำนานเกินไป การระคายเคืองผิวด้วยวัสดุที่ใช้ถูตัว เช่น ผ้าหรือฟองน้ำขัดผิว รวมถึงการใช้สบู่หรือสารทำความสะอาดที่รุนแรงเกินไปจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  3. การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราแทรกซ้อนบนผื่นผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
  4. สารเคมีหรือสารระคายเคืองผิว เช่น น้ำลาย ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหอม สารกันบูด
  5. ในผู้ป่วยบางรายเมื่อรับประทานอาหารบางชนิด เช่น นมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล ถั่วเป็นต้น สามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้
  6. สารก่อการระคายเคืองที่อยู่ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ซึ่งมักพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
  7. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล

บทบาทของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

จากรายงานการทบทวน Systematic Review พบว่า มีการลดลงของความหลากหลายของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังของผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น เชื้อยีสต์ (Malassezia species) และแบคทีเรียบางชนิด มีความหลากหลายของเชื้อจุลินทรีย์ลดลงมากที่สุดที่บริเวณผื่นผิวหนังที่มีการอักเสบ แต่กลับพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคชนิด Staphylococcus aureus และ Staphylococcus epidermidis เพิ่มมากขึ้น

จากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่า ความไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ

ในงานวิจัยหลายงานวิจัย พบว่า เมื่อมีการทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังในผู้ป่วยที่มีผื่นกำเริบ จะทำให้ผิวหนังแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น ส่งผลให้จำนวนและชนิดของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคลดลง มีความสมดุลและมีความหลากหลายของเชื้อจุลินทรีย์บนผิวหนังเพิ่มมากขึ้นจนเกือบใกล้เคียงกับในคนผิวปกติที่ไม่ได้เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาศัยประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการหน้าเป็นผื่น คัน ผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ในบริเวณที่แตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย

การรักษา

การดูแลรักษาโรคสามารถทำได้โดย 

  1. การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผื่นกำเริบเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรดูแลผิวพื้นฐาน ดังนี้

    - ไม่ควรอาบน้ำบ่อยๆ ไม่ควรใช้น้ำที่อุ่นหรือร้อนจนเกินไป และไม่ขัดถูผิวแรงๆ ขณะอาบน้ำ
    - เลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่เหมาะสมกับ ผิวแพ้ง่าย ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป ไม่ควรใช้สบู่ที่มีความเป็นกรดหรือด่างรุนแรง
    - เลือกใช้เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม โปร่ง ใส่สบาย ระบายความร้อนได้ดี ไม่ควรใส่เสื้อขนสัตว์ ผ้าเนื้อหนาหยาบจนเกินไป เพื่อลดการอับเหงื่อที่ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคือง
    - ในทารกที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรแนะนำให้ดื่มนมมารดา เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัว ไม่รับประทานอาหารที่ทราบแน่ชัดว่าทำให้ผื่นกำเริบ

  2. ควรดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทาหลังอาบน้ำทันที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเลือกสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังชนิดที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม เหมาะสมกับผิวผู้ป่วย
  3. ทายาลดอาการอักเสบ

    3.1 ยาทาสเตียรอยด์ ใช้ทาเฉพาะตำแหน่งที่มีผื่นแดงอักเสบ เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุด และควรอยู่ ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
    3.2 ยาทากลุ่ม Topical Calcineurin Inhibitor (TCI) ได้แก่ tacrolimus และ pimecrolimus ออกฤทธิ์ ต้านการอักเสบคล้ายยาทากลุ่มสเตียรอยด์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

  4. ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นตุ่มหนอง หรือน้ำเหลืองซึม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแล แนะนำการทำความสะอาดแผล อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือกินร่วมด้วย
  5. ยาต้านฮีสตามีนชนิดที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน จะช่วยลดอาการคัน เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้นหรือเกิดแผลถลอก และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้

การควบคุมอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่น เช่น เหงื่อ การดูแลผิวที่ไม่เหมาะสม การติดเชื้อแทรกซ้อนทางผิวหนัง สารเคมี สารระคายเคืองผิว สารซักฟอก สารทำความสะอาด น้ำลาย อาหารบางชนิด และความเครียด
  2. ป้องกันการเกาจากอาการคันทั้งจากการแพ้และการระคายเคือง และพยายามตัดเล็บผู้ป่วยให้สั้นอยู่เสมอ
  3. ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่ไม่มีผื่นผิวหนังอักเสบ เพื่อช่วยฟื้นฟูและทำให้ผิวหนังสมบูรณ์ จะช่วยป้องกันการกำเริบของของโรค

การเลือกสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนัง

ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวหนังที่ป้องกันการสูญเสียน้ำ (occlusive) พร้อมดึงความชุ่มชื้นคืนสู่ผิว (humectant) ทำให้เรียบลื่น (emollient) เช่น โลชั่น ครีมบำรุง ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวหนังที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากเติมสารไขมันให้ความชุ่มชื้นผิวหนัง เช่น shea butter, canola oil สารต้านฤทธิ์การอักเสบของผิวหนัง เช่น niacinamide, ชิ้นส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ (Aqua Posae Filiformis) และน้ำแร่ธรรมชาติจากบ่อน้ำพุร้อน ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพทั้งในหลอดทดลองและในผู้ป่วยจริง สามารถลดอาการคันทำให้ผิวชุ่มชื้นยาวนาน ปราศจากน้ำหอม สีและสารกันเสีย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิว

อย่างไรก็ตาม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวหนังที่มีส่วนประกอบ เนื้อครีมและความเหนียวข้นให้เหมาะกับสภาพผิวของผู้ป่วยแต่ละคน และควรคำนึงถึงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วย

การดำเนินโรค 

อาการของโรคมักเป็นเรื้อรัง พบอาการกำเริบบ้างเป็นๆ หายๆ แต่อาการจะดีขึ้นตามการดูแลผิวที่ถูกต้องและอายุที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะโครงสร้างผิวหนังที่แข็งแรงขึ้นและการสร้างสารไขมันของผิวหนังที่เพิ่มขึ้นตามเวลา โดยพบว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 8 ปี

เอกสารอ้างอิง

1. แนวทางการดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 2015 จัดทำโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย และชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย

2. Bjerre RD, Bandier J, Skov L, et al. The role of the skin microbiome in atopic dermatitis: a systematic review. Br J Dermatol 2017; [Epub ahead of print]

3. Seite S, Flores GE, Henley JB, et al. Microbiome of affected and unaffected skin of patients with atopic dermatitis before and after emollient treatment. J Drugs Dermatol 2014;13(11):1365-72.

4. Wananukul S, Chatproedprai S, Tempark T, et al. The natural course of childhood atopic dermatitis: a retrospective cohort study. Asian Pac J Allergy Immunol 2015;33:161-8.