ครีม “รักษาสิว” สำหรับหญิงตั้งครรภ์...เลือกและเลี่ยงอย่างไร

Article Read Duration 7 min read

          เมื่อ “สิว” มาพร้อมกับเรื่องราวดี ๆ “ปัญหาสิวในช่วงตั้งครรภ์” ผู้หญิงหลายคนไม่เคยมีความกังวลใจเรื่องปัญหาสิวมาก่อน แต่กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาสิวในช่วงเวลาตั้งครรภ์ จนทำอะไรไม่ถูก ไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ยารักษาสิวได้หรือไม่ ใช้ครีมรักษาสิวดีไหม จะอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ หรือบางคนที่คุ้นเคยกับปัญหาสิวเป็นอย่างดีมาก่อนก็ตาม ก็อาจมีความกังวลใจต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับปัญหาสิวขณะตั้งครรภ์ด้วยเช่นเดียวกัน วันนี้เรามาทำความเข้าใจการดูแลปัญหาสิวอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และทารกน้อยในครรภ์ด้วย

ปัญหาสิวเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อ “การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน” เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ทั้งฮอร์โมนเพศหญิง “เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน” และฮอร์โมนเพศชาย “เทสโทสเตอโรน และ แอนโดรเจน” รวมไปถึง ฮอร์โมนต่อมใต้สมองส่วนกลาง...มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จะกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาใบหน้ามันเงา รูขุมขนกว้าง (จากการขยายตัวของรูขุมขน) เกิดการอุดตันในรูขุมขน กลายเป็นปัญหาสิว และหากคุณผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเครียด ความกังวลร่วมด้วย จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาสิวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

I FACT & MYTHS 1: หากเป็นสิวขณะตั้งครรภ์จะได้ลูกชาย

ไม่ถูกต้อง จากความเชื่อที่ว่าฮอร์โมนเพศชายของลูกชายครรภ์ส่งผลทำให้คุณแม่เกิดปัญหาสิว ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปมีโอกาสจะเกิดปัญหาสิวจริง แต่ในทารกเพศชายในขณะอยู่ในครรภ์ยังไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศใด ๆ ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะลูกสาวหรือลูกชาย คุณแม่ล้วนมีโอกาศเกิดสิวได้ไม่ต่างกัน

ข้อควรระวังครีมรักษาสิวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

เมื่อ “ครีมรักษาสิว” ทุกตัวอาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์นอกจากจะต้องระวังในเรื่องอาหารการกินแล้ว สำหรับปัญหาสิวขณะตั้งครรภ์ก็ต้องระวังในการเลือกใช้ยา ผลิตภัณฑ์ หรือครีมรักษาสิวด้วย โดยแนะนำให้งด หรือหลีกเลี่ยง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ 2 สารดังนี้
  • 1. สารในกลุ่มของกรดวิตามินเอและอนุพันธ์
ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของยา (ทั้งชนิดยาทาและชนิดรับประทาน) ตัวอย่างเช่น Retinoic acid, Adapalene, Isotretinoin หรือในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น เรตินอล เป็นต้น ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ เป็นกลุ่มยาที่ห้ามใช้ทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์โดยเด็ดขาดเพราะตัวยาส่งผลต่ออย่างรุนแรงต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะทารกพิการหรือความบกพร่องทางสมองได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงห้ามใช้โดยเด็ดขาด รวมถึงระยะให้นมบุตรด้วย และหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ก็ต้องหยุดการใช้ยาในกลุ่มนี้อย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์อย่างเคร่งครัดในการใช้ยากลุ่มนี้ และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีความประสงค์จะตั้งครรภ์
  • 2. ยากลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracyclin)
เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อพัฒนาการในการสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ รวมถึงส่งผลต่อสีฟันของเด็กเมื่อโตขึ้นด้วย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์รวมไปถึงระยะให้นมบุตรด้วย

I FACT & MYTHS 2: หากเป็นสิวขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic acid)

          ไม่ถูกต้อง มีบางความเชื่อที่คิดว่าซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic acid) จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นเดียวกับสารในกลุ่มของกรดวิตามินเอ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ยังไม่วางใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพิ่มเติม หรืออาจปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลขณะตั้งครรภ์ก็ได้เช่นเดียวกัน

การปฏิบัติตัวขณะที่เป็นสิวระหว่างการตั้งครรภ์

          เมื่อ “พฤติกรรม” ส่งผลต่อปัญหาสิว ดังนั้นการปฏิบัติตัวขณะที่เป็นสิวระหว่างการตั้งครรภ์ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการดูแลปัญหาสิวของบุคคลทั่ว ๆ ไปด้วย ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรปฏิบัติตัวด้วยหลักการเดียวกัน เช่น
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสิว
  • หลีกเลี่ยงการรบกวน/สัมผัสผิวหน้า การบีบ และแกะสิว
  • ทำความสะอาดผิวหน้าวันละ 2 ครั้ง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลปัญหาสิว
  • ใช้ครีมกันแดดที่ไม่ทำให้อุดตันผิว (Non-comedogenic) นอกจากจะช่วยลดปัจจัยกระตุ้นการผลิตน้ำมันที่ส่งผลต่อการเกิดสิวแล้ว ครีมกันแดดยังช่วยลดรอยดำของสิวได้อีกด้วย และยังมีอีกเหตุผลสำคัญที่ต้องใช้ครีมกันแดดในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะผู้หญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาฝ้า กระ จุดด่างดำ เพิ่มมากขึ้นด้วย
  • ดื่มน้ำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากช่วยดูแลแก้ปัญหาสิวแล้ว ยังส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย
          นอกจากพฤติกรรมที่ดีแล้ว ความคิดที่ดี รวมไปถึงความสบายใจยังส่งผลที่ดีต่อทั้งคุณแม่ และคุณลูกในครรภ์ รวมไปถึงคุณพ่อที่อยู่เคียงข้างคุณแม่ด้วย เพื่อความสุขกายและสบายใจที่มาพร้อมกับผิวสวยสุขภาพดีของคุณแม่ตั้งครรภ์และทุกคนในครอบครัว